วิสัยทัศน์ (VISION): ตำบลสุเทพน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ประชาชนสุขภาพดี มีรายได้ ภายใต้การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ข้อมูลเทศบาล

Userนายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ

นายพศิน อัคเดชธนโชติ - นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ <br>ติดต่อ 081-6724432

นายพศิน อัคเดชธนโชติ

นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ
ติดต่อ 081-6724432

hornข่าวประชาสัมพันธ์

วิกฤติการเงินและการคลัง ข่าวประชาสัมพันธ์จากอปท

  • วันที่ 1 มีนาคม 2553
  • อ่าน 336 ครั้ง

วิกฤติการเงินและการคลังในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่องบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2553 โดยเฉพาะเงินอุดหนุนทั่วไปของท้องถิ่นที่มีเม็ดเงินขาดหายไปประมาณ 45-50 %

 

แม้ต่อมารัฐบาลจะจัดสรรงบไทยเข้มแข็งลงไปช่วย แต่ปรากฏว่างบก้อนนี้ได้ไปสร้างความสับสนให้กับ อปท.เป็นอย่างมาก

หลังจากที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างออกมาเรียกร้อง ให้รัฐบาลแก้ปัญหาการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดหายไปจากสัดส่วน 25% ที่เคยได้รับจากปีงบประมาณ 2552 โดยขอให้ นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเร่งหาทางช่วยเหลือ ซึ่งนายอภิสิทธิได้ออกมารับปากอย่างแข็งขันว่าจะหาทางจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมไปให้ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ปี 2551

ดังนั้น เมื่อมีการจัดสรรงบอุดหนุนงวดแรกไป โดยได้รับแจ้งว่าในปีนี้จะได้รับเพียงงวดเดียว และจะไม่มีการจัดสรรเงินเพิ่มให้อีก และขอให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งไปปรับลดงบประมาณเอาเอง ว่าโครงการใดควรจะดำเนินการหรือโครงการใดควรจะยกเลิก ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่ในอาการระส่ำระสาย เนื่องจากหลายแห่งได้เสนอโครงการไทยเข้มแข็งไปแล้ว ไม่ได้เตรียมการไว้เพื่อใช้จ่ายตามงบปกติในปี 2553 ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าจ้าง เงินเดือนให้แก่พนักงานในช่วงปลายปีงบประมาณ  รวมถึงกระทบกับโครงการต่างๆที่วางแนวทางเอาไว้แล้ว

นายประภัสร์  ภู่เจริญ นายก ส.ท.ท. เปิดเผยว่า โดยภาพรวมแล้วงบประมาณ ปี 53 ของรัฐบาล เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ต่ำกว่าปี 52 ดังนั้นรัฐบาลจึงแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งงบประมาณตามฐานของปี 51 มาใช้ในปี 53 ฉะนั้น ตัวเลขงบประมาณที่วางไว้จึงเกิดความคลาดเคลื่อน

“ในปี 2552 เราได้เงินอุดหนุน 57,000 ล้าน แต่ในปี 53 นี้เราได้มาแค่ 29,000 ฉะนั้นตัวเลขก็จะหายไปเกือบ 50% เป็นงบอุดหนุนทั่วไปของท้องถิ่นที่มาแบ่งเป็นรายหัวทั่วไป ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลโดยกรมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรงบมาให้เพียงแค่งวดเดียวเท่านั้น  เงินอุดหนุนนี้ทุกเทศบาลได้หมดแล้ว อบต. อบจ. ก็ได้ไปหมดแล้วเช่นกัน รวมทั้งเมืองพัทยาด้วย”

นายประภัสร์กล่าวว่า ในปี 53 งบของท้องถิ่นที่ขาดหายไป เนื่องจากไปผูกติดกับเงินช่วยเหลือเรื่องผู้สูงอายุ และ อสม. ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยค่าใช่จ่ายเหล่านี้รัฐบาล นำเข้าไปอยู่ในงบท้องถิ่น 25%  ฉะนั้นงบอุดหนุนทั่วไปจึงขาดหายไป เป็นการเพิ่มงบอุดหนุนเฉพาะกิจเข้าไป แต่ตัวเลขเท่าเดิม

“เรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าปีนี้จะมีปัญหาในการบริหาร จึงได้เรียกร้องรัฐบาล ขอให้ท่านนายกอภิสิทธิ์ช่วย ท่านก็รับปากว่าจะหาเงินมาเพิ่มให้อีก ท้ายสุดรัฐบาลได้จัดสรรงบไทยเข้มแข็งมาให้ 23,000 ล้าน ซึ่งเป็นเงินกู้โดยใช้เป็นฐานของท้องถิ่น และให้ อบต. กับเทศบาลนำไปแบ่งกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เงินส่วนนี้ควรจะเป็นงบช่วยเหลือท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นงบก้าวหน้า ซึ่งเป็นงบไทยเข้มแข็ง เพราะว่าข้อเท็จจริงจากเดิม อปท.จะตั้งงบไว้ 100% แต่ได้มาจริง แค่ 40%  และได้มาแค่งวดเดียว ฉะนั้นท้องถิ่นส่วนใหญ่ติดลบ 50% เงินที่ อปท.ได้มา 23,000 ล้าน ต้องเอาไปชดเชย 50 % ให้พออยู่ได้ก่อน ตามนโยบายรัฐบาล ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่ระบุให้แบ่งตามนโยบายรัฐ ตามรายหัว แบ่งตามจำนวนประชากร และตามจำนวนท้องถิ่น”

    “ทางแก้ตอนนี้ก็คือ ประการแรก เราจะขอให้ทางกรมส่งเสริมฯทำหนังสือชี้แจงไปให้จังหวัด ทราบว่าท้องถิ่นจะขอใช้งบไทยเข้มแข็งตามขั้นตอนในเทศบัญญัติก่อน ถ้าเหลือจากนั้นแล้วจึงจะเอาไปทำงบก้าวหน้า ประการที่สอง เราจะขอขยายระยะเวลาเพราะว่าระยะเวลาเขากำหนดว่าให้ส่งอะไร อย่างไร เมื่อไร ก็ขอขยายระยะเวลาให้ท้องถิ่นได้ไปแก้ไขโครงการเสียใหม่ ซึ่งกรมส่งเสริมฯได้รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ รวมถึงการแก้ไขคณะกรรมการในการพิจารณา ประการสุดท้ายเราอาจจะต้องร้องขอไปยังทางนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อขอให้จัดสรรงบประมาณมาให้อีก ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงบไทยเข้มแข็ง เพราะถ้าไม่ได้เงินมาเพิ่มก็จะมีปัญหามากมาย ท้องถิ่นทั้งหลายจะมีผลกระทบและเดือดร้อนกันไปหมด” นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลกล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
                     ที่มา   ข่าวจาก อปท นิวส์  ปีที่ 4  ฉบับที่87 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ -28 กุมภาพันธ์ 2553

แชร์ข่าวนี้ให้เพื่อน: