วิสัยทัศน์ (VISION): ตำบลสุเทพน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ประชาชนสุขภาพดี มีรายได้ ภายใต้การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ข้อมูลเทศบาล

Userนายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ

นายพศิน อัคเดชธนโชติ - นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ <br>ติดต่อ 081-6724432

นายพศิน อัคเดชธนโชติ

นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ
ติดต่อ 081-6724432

map locationข้อมูลท่องเที่ยวในตำบลสุเทพ

เลือกหมวดข้อมูลท่องเที่ยว

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

  • วันที่ 25 ตุลาคม 2554
  • อ่าน 5,506 ครั้ง

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพมักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ เฟือน หรือ อินท์เฟือนบ้างก็ว่า อ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์เมืองของพระอินทร์ ครูบาศรีวิชัยเกิดวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ที่หมู่บ้าน บ้านปาง ต.แม่ตื่น อ.ลี้ จ.ลำพูน ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่นั้น บ้านปางทุรกันดารมากและมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง บ้านปางไม่มีวัดประจำหมู่บ้านจนกระทั่งครูบาขัติยะ เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงนิมนต์ครูบาขัติยะให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฎิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ซึ่งในช่วงนั้นเองทีครูบาศรีวิชัยหรือเด็กชายอินท์เฟือน ในสมัยนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับครูบาขัติยะ และเมื่ออายุได้ 18 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่าง 21 ปี ก็ได้อุปสมบท ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนและได้รับฉายานามว่า สิริวิชโยภิกขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2444 ครูบาขัติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป บ้างก็ว่าท่านมรณภาพ ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง

นอกจากการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพแล้ว ครูบาศรีวิชัยยังได้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เป็นที่พึ่งทางใจและดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ตลอดจนสาธารณะประโยชน์ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายของ ชีวิต ว่ากันว่างานบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของท่านมีมากถึง 200 แห่งเลยทีเดียว และผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านคืองานสร้างสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ที่ทอดข้ามแม่น้ำปิงเพื่อเชื่อมระหว่าง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กับ อ.เมือง จ.ลำพูน แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญนั้น ทำให้ท่านอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2481 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงยังไม่ทันเสร็จ ท่านก็มีอาการกำเริบหนักขึ้นและมรณภาพในที่สุด

ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ชื่อที่ลูกหลานชาวเชียงใหม่รู้จักกันเป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านไปเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม ความเลื่อมใสศรัทธาไม่เคยลดลง ยิ่งผ่านไปนานเท่าไหร่ ศรัทธายิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที...ทุกที ดูได้จากการที่มีผู้คนมาสักการบูชาอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยอย่างไม่เคยขาดสาย นับว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวล้านนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว ตลอดชั่วชีวิตของครูบาศรีวิชัย ท่านสร้างความดีและสร้างสาธารณประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย วีรกรรมของท่านยังเป็นที่จดจำอย่างไม่ลืมเลือน และยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวล้านนาได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบมา คุณงามความดีของท่านประเสริฐเลิศล้ำสมกับที่ใคร ๆ ต่างเรียกท่านว่านักบุญแห่งล้านนาไทยเป็นอย่างยิ่ง ...

แชร์สถานที่สำคัญนี้ให้เพื่อน: