วิสัยทัศน์ (VISION): ตำบลสุเทพน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ประชาชนสุขภาพดี มีรายได้ ภายใต้การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ข้อมูลเทศบาล

Userนายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ

นายพศิน อัคเดชธนโชติ - นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ <br>ติดต่อ 081-6724432

นายพศิน อัคเดชธนโชติ

นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ
ติดต่อ 081-6724432

map locationข้อมูลท่องเที่ยวในตำบลสุเทพ

เลือกหมวดข้อมูลท่องเที่ยว

วัดผาลาด

  • วันที่ 25 ตุลาคม 2554
  • อ่าน 40,576 ครั้ง

วัดผาลาด (สกทาคามี)
ประเภท    วัดราษฎร์
นิกาย        เถรวาท มหานิกาย

ที่ตั้ง        ๑๐๑ บ้านห้วยผาลาด หมู่ ๑ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่วัดผาลาด (สกทาคามี) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากือนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสี่ยงทายหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่ออันเชิญพระธาตุขึ้นสู่หลังช้างมงคลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเจ้ากือนา และ พระมหาสุมนะ ก็ตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้เทวดาผู้มีสัมมาทิฐิ ช่วยนำพาช้างขึ้นไปสู่สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาติ อันจะสามารถตั้งอยู่ได้นานตลอดกาล ๕,๐๐๐ ปี พระวัสสา
ช้างมงคลที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้น ร้องขึ้น ?แส่นสะเคียน 3 ที? แล้วออกเดินทางประตูหัวเวียง (ปัจจุบันคือประตูช้างเผือก) มุ่งหน้าตรงไปทางดอยสุเทพ อ้อยช้าง ทิศตะวันตกของเมือง พระเจ้ากือนา และพระมหาสุมนะพร้อมทั้งพญาลิไทยจากเมืองสุโขทัย และเหล่าเสนาอามาตย์ ก็ให้ข้าราชบริพารประโคมฆ้อง กลอง ดนตรี ตามหลังช้างไป เมื่อไปถึงยอดดอยแห่งหนึ่งช้างก็หยุด พระเจ้ากือนา ทรงดำริว่าช้างจะหยุดอยู่ที่นี้ จึงบอกให้ช้างนอนลง ปรากฏว่าช้างก็ไม่นอน แล้วเดินต่อไป ภายหลังสถานที่แห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยช้างนอน และเพี้ยนมาเป็นดอนช้างนุน และเป็นดอยขนุนในที่สุด ปัจจุบันอยู่ในสวนเวฬวุน ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนบุคคลเชิงดอยสุเทพทางเข้าวัดฝายหิน

ช้างออกเดินขึ้นไปถึงยอดดอยอีกแห่งหนึ่ง เป็นลานเรียบงดงาม พระเจ้ากือนาและพระมหาสุมนะ ต่างเห็นพร้อมกันควรประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ ที่นั้นจึงกล่าวว่า ?ขอพระธาตุพระพุทธเจ้าตั้งที่นี้ (ประดิษฐานที่นี้) แล จิ่งนบ ๓ ที?  เมื่อกราบครบ ๓ ครั้ง ช้างก็เดินทางต่อไปหาได้หยุดลงอย่างที่ทุกคนหวัง สถานที่แห่งนี้คนทั้งหลายเรียกว่า ๓ ยอบ (บางฉบับเรียกสนามยอดดอยงาม และ ๓ ยอดดอยงามก็มี)

ช้างมงคลเดินต่อขึ้นไปตามลำธารจนถึงห้วยผาลาด เป็นหน้าผาสูงชัน ข้างลำห้วยมีที่ราบเป็นบริเวณกว้าง จึงหยุดพักอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วช้างก็เดินนำขึ้นไปตามลำดับสู่ยอดดอยสุเทพ หรือดอยอ้อยช้าง ช้างมงคลก็แส่นสะเครียน ๓ ที แล้วย่อเข่าลงบนที่นั้น เมื่อพระมหาสุมนะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากหลังมาแล้ว ช้างก็ดับจิตจุติจากไปในวันนั้นแล สถานที่บรรจุพระบรมธาตุนั้น คือ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ในปัจจุบัน

หลังจากสร้างพระธาตุดอยสุเทพเสร็จแล้ว พระเจ้ากือนา ทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดตามรายทางอัญเชิญเพื่อเป็นอนุสรณ์ ขึ้นอีก 3 แห่ง คือ
๑.    วัดโสดาปันนาราม หรือ สามยอบ ปัจจุบันเป็นวัดร้างในบริเวณของวัดผาลาด
๒.    วัดสกทาคามีวนาราม หรือ ผาลาด (เรียกลักษณะของผาน้ำตกที่ลาดชัน ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านเล่าว่า เดิมเรียก วัดผะเลิด เพราะคนที่เดิมตามช้างมาตามธารน้ำตกลื่นหกล้มกันหลายคน บ้างก็ว่าช้างก็ลื่นเหมือนกัน จึงให้ชื่อว่าวัดผะเลิด ต่อมาเรียกเป็น ผาลาด ตามชื่อ ผาน้ำตก)
๓.  วัดอนาคามี ซึ่งได้สาบสูญไป ปัจจุบันมีการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นพุทธอุทยานอนาคามี
๔.    วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็น วัดอรหันต์

โบราณสถานภายในวัด
๑.    วิหาร สร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โดยเลี่ยงจากฐานวิหารเดิมมาทางทิศเหนือ เพื่อไม่ให้ซ้อนที่กัน โดยมีหลวงโยนการวิจิต หรือ พญาตะก่า ชาวพม่า ผู้เป็นลูกศิษย์ของครูบาโสภา (เทิ้ม) วัดแสนฝาง และครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย  หน้าบั้นวิหารแกะสลักเป็นรูปนกยูง ส่วนด้านหลังแกะเป็นรูปกระต่าย
๒.    เจดีย์ เป็นศิลปะพม่า สร้างโดยช่างชาวพม่า พร้อมกับวิหาร ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มี ขโมยแอบขุดเจาะเอาของมีค่าออกไป จนเป็นเหตุให้ยอดเจดีย์พังลงมา องค์เจดีย์กลวงเป็นรูใหญ่ ทั้งสองด้าน ปี ๒๕๔๕  อาจารย์สุวิทย์ จากศิลปกรได้ขอนุญาตเข้ามาบูรณะให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงขึ้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๖  พระมหาสง่า ธีรสํวโร ได้อาราธนาครูบาปัญญาวชิระ วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง) นำญาติโยมมาช่วยบูรณะต่อเติมจนเต็มองค์ และอาราธนาพระญาณสมโภชมาเป็นประธานทำพิธียกฉัตรในปีเดียวกัน
๓.    บ่อน้ำ บ้างบอกว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ จากการสังเกตทำให้ทราบว่ามีการสร้างบูรณะขึ้นหลายครั้ง จึงสันนิษฐานว่า ครั้งที่หนึ่งสร้างขึ้นร่วมสมัยการอัญเชิญพระธาตุขึ้นประดิษฐานบนดอยสุเทพของพระเจ้ากือนา เพื่อเอาน้ำไว้กิน อาบ เป็นวิธีการกรองน้ำอย่างหนึ่งของคนโบราณ จะได้ไม่ต้องใช้น้ำจากลำห้วยโดยตรง
ครั้งที่สองน่าจะเป็นสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ (ดูจากอิฐกี่ปากบ่อน้ำ) และครั้งที่สามในสมัยครูบาศรีวิชัย โดยหลวงโยนการวิจิตร (อุปโยคิน) การสร้างมณฑปครอบบ่อน้ำนี้เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในถิ่นชาวไต และทางภาคเหนือของพม่า
๔.    พระพุทธรูปหน้าผา เดิมเป็นหอพระพุทธรูปที่สวยงามมาก คุณบุญเสริมถ่ายภาพไว้ เป็นวิหารสี่เหลี่ยมตามแนวผ่า ศิลป์พม่าร่วมสมัย มีผู้เล่าว่าสมัยก่อนพระที่อยู่หน้าผาเป็นพระศิลป์แบบเชียงแสน และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งเรียกว่าพระไล่กา (เหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะว่า อีกา ไม่สามารถบินผ่านวัดขึ้นไปได้ เพราะพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว แม้แต่ผู้คนที่ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ หากนำอาหารติดตัวมา ที่เป็นเนื้อไม่ว่าสุกหรือดิบจะไม่สามารถเอาผ่านวัดนี้ไปได้ หากไม่เชื่อจะมีอาการปวดหัว ปวดท้อง) ภายหลังมีชาวบ้านขึ้นมาหลบภัยสงครามอยู่ ณ ถ้ำผาลาด จึงพากันสร้างพระพุทธรูปไว้สักการะ และป้องกันภัยสันนิษฐานว่าถ้ำน่าจะอยู่ตรงพระพุทธรูปที่หน้าผา หรือไม่ก็อยู่ทางด้านข้างใกล้ ๆ กับบริเวณหอพระพุทธรูปนี้
๕.    วิหารพระเจ้ากือนา ปัจจุบันเห็นแต่งเพียงแนวอิฐ อยู่ข้างลำธาร ตรงฐานพระประธาน ได้สร้างศาลาครอบเอาไว้ แต่ยังมองเห็นแนวแท่นพระอยู่  ขณะนี้วัดกำลังปรับภูมิทัศน์บริเวณดังกล่าวเพื่อให้เป็นสถานที่นั่งปฏิบัติธรรม
๖.    วิหารวัดสามยอบ และม่อนภาวนา  ปัจจุบันเห็นแต่งเพียงเนินดินสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ x ๔๐ เมตร มีอิฐ และลวดลายปูนปั้น ตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณด้านหน้าวิหารมีร่องรอยของสระน้ำอยู่ เดิมน่าจะมีทางรินน้ำไหลผ่านมาเข้าที่สระนี้ ซึ่งหากสามารถนำน้ำมาลง ณ ที่นั้นได้จะช่วยให้บริเวณสามยอบ และม่อนภาวนา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกลับชุมชื่น ต้นไม้ใบหญ้าจะสดชื่นขึ้นอีกมากมาย ทั้งจะสามารถป้องกันปัญหาไฟไหม้ได้อีกด้วย


แชร์สถานที่สำคัญนี้ให้เพื่อน: